Dye Sublimation & Thermal Transfer Printing
11 Apr, 2019 / By
eoscard
การพิมพ์ของเครื่องพิมพ์บัตรพลาสติกจะมีอยู่ 2 แบบ คือ การพิมพ์แบบ Thermal Transfer และ การพิมพ์แบบ dye sublimation ทั้ง 2 แบบนี้ถูกใช้ทั้งในเครื่องพิมพ์บัตรแบบ DTC (Direct-To-Card) ซึ่งเป็นการพิมพ์ภาพโดยตรงไปที่ผิวหน้าบัตร และเครื่องพิมพ์บัตรแบบ Retransfer ซึ่งเป็นการพิมพ์ภาพลงไปที่ฟิล์มใส (Retransfer film) ก่อน แล้วจึงทำการประสานเนื้อฟิล์มที่มีภาพนี้ลงบนหน้าบัตรด้วยความร้อนอีกที การพิมพ์แบบ Retransfer นี้เป็นสิ่งใหม่ของการพิมพ์บนบัตรพลาสติก ขจัดปัญหาคุณภาพการพิมพ์ของ การพิมพ์แบบ DTC ที่เกิดจากผิวหน้าบัตรพลาสติกที่เป็นของแข็งที่อาจจะไม่เรียบสม่ำเสมอกัน (เพราะหัวพิมพ์ต้องกระทบโดยตรงกับผิวแข็งๆของพลาสติก) ทำให้การพิมพ์แบบ Retransfer นี้ ให้คุณภาพการพิมพ์โดยรวมที่ดีกว่า
Thermal Transfer Printing
แปลตรงๆได้ว่า เป็นการพิมพ์แบบส่งผ่านด้วยความร้อน ซึ่งเกิดจากหมึกบน Ribbon ที่อยู่ในรูปของแข็ง ถูกความร้อนจากหัวพิมพ์ ทำให้อ่อนตัวและหลุดออกจากตัว ribbon และถูกส่งผ่าน (transfer) ไปแปะอยู่บนผิวบัตรพลาสติก สำหรับ การพิมพ์ DTC หรือไปอยู่บน Retransfer film สำหรับ การพิมพ์แบบ Retransfer
หมึกที่อยู่บน ribbon สำหรับการพิมพ์แบบ Thermal Transfer นั้น มักจะเป็น Resin พิมพ์แล้วจะรู้สึกถึงความหนาหรือนูนขึ้นมาจากผิวบัตร มักใช้ใน Panel K (BlacK) ที่ต้องการความชัดเจนสำหรับสีดำ เหมาะในการลงตัวอักษร หรือ Barcode
สีจากการพิมพ์แบบ Thermal Transfer จะไม่มีการไล่ระดับสี เพราะว่าหมึกมันจะหลุดออกไปทั้งหมด เนื้อสีของ ribbon เป็นอย่างไร สีนั้นก็จะเห็นบนบัตรด้วยระดับความเข้มเดียวกัน
Dye Sublimation Printing
Sublimation แปลตรงๆก็คือ การระเหิด ถ้ายังจำวิชาวิทยาศาสตร์สมัยประถมได้ก็จะรู้ว่า การระเหิด ก็คือการที่ของแข็งเปลี่ยนรูปไปเป็นก๊าซ (ไม่ได้กลายเป็นของเหลวก่อน) แล้ว Dye ก็คือการให้สี (ย้อมสี) ดังนั้นถ้าจะแปลกันแบบตรงตัว Dye Sublimation ก็คือการระเหิดที่ทำให้เกิดการย้อมสี (บนบัตร) การพิมพ์ด้วยวิธีนี้เริ่มจากหัวพิมพ์ให้ความร้อนไปที่หมึกสีซึ่งอยู่ในสถานะของแข็งบน ribbon จนกระทั่งเกิดการระเหิดเป็นสถานะเป็นก๊าซและซึมอยู่ในเนื้อผิวบัตรพลาสติก พอเย็นลงสีจะติดประสมประสานเข้าไปอยู่ในเนื้อบัตร (ไม่ได้อยู่บนผิวบัตร เหมือน Thermal Printing) ซึ่งจะเหมือนการย้อม (จึงเรียกว่า Dye)
การพิมพ์แบบ Dye Sublimation จะให้ระดับของสีที่หลากหลายกว่า เพราะว่าสามารถที่จะไล่ระดับความเข้มของสีได้ ขึ้นอยู่กับระดับความร้อนของหัวพิมพ์ ให้ความร้อนมากก็เป็นก๊าซมาก สีก็จะหนาแน่นกว่า สามารถที่จะผสมสีได้ เมื่อใช้ panel ของแม่สีแต่ละสี (Y, M, C) พิมพ์ลงบนจุดเดียวกันก็จะได้สีที่ผสมออกมา ดังนั้นจะเหมาะมากสำหรับการพิมพ์รูปถ่าย เช่นรูปคน จะให้สีสันได้สมจริง